วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระวัดพลับ (พระกรุ)

พระกรุวัดพลับองค์ที่อยู่ในรูปนี้ ข้าพเจ้าได้มาจากน้องชายคนหนึ่ง ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าคือพระอะไร จนพบผู้รู้ท่านก็บอกว่าเป็นพระกรุ วัดพลับ แต่จริงแท้แน่นอนแค่ไหนก็มิทราบได้ ใครพอทราบก็ช่วยบอกเพื่อเป็นความรู้หน่อยน่ะครับ

ผมได้รวบรวมเรื่องราว และลิงค์ ของพระกรุวัดพลับ ทั้งพิมพ์พระกรุนี้ และข้อมูลเรื่องเล่าต่างๆ

พระวัดพลับ แตกกรุราว พ.ศ.๒๔๖๕ เนื่องจากมีผู้พบเห็นกระรอกเผือกตัวหนึ่งวิ่งอยู่ในบริเวณวัด แล้ววิ่งเข้าไปในโพรงแคบของเจดีย์ข้างอุโบสถ ด้วยความอยากได้กระรอกเผือก ผู้พบจึงได้ใช้ไม่กระทุ้งเข้าไปในโพรง แต่เมื่อชักไม้ออกมาปรากฏว่า มีพระผงสีขาวขนาดเล็กพิมพ์ต่างๆ ไหลทะลักออกมาเพราะผนังเจดีย์ที่โบกไว้แตกออกเป็นช่อง ด้วยแรงกระทุ้งของไม้ พระที่พบได้ถูกลำเลียงออกมาแจกจ่ายและให้เช่ากัน นักนิยมพระเครื่องรุ่นก่อนจึงเรียกว่า “พระกรุกระรอกเผือก” เมื่อสังฆวรานุวงศ์เถระ (ชุ่ม) วัดพลับ ทราบเรื่อง จึงได้ให้พระเณรช่วยกัน รวบรวมพระที่เหลือในกรุทั้งหมดขึ้นมาเก็บไว้ในกุฏิ



พระวัดพลับ เป็นพระผงเนื้อขาว กล่าวกันว่า เป็นต้นตำหรับพระเนื้อตระกูลสมเด็จ ซึ่งสร้างมาก่อนพระเนื้อผงอื่นใด โดยการสร้างจะสร้างพระขึ้นจากผงวิเศษเป็นหลัก มีน้ำมันตังอิ้วเป็นตัวประสาน ผสมปูนเปลือกหอยเข้าไป ส่วนมวลสารอื่นๆ เช่น เกสรดอกไม้ ขี้ธูป ไคลเสมา ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนผสมรอง ท่านสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นผู้คิดค้นวิธีสร้างพระผงดังกล่าว และนำมาสร้างพระเป็นองค์แรก คือ พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ สืบต่อมาองค์อาจารย์รุ่นหลังๆ ก็ได้นำการผสมสร้างพระของท่านมาเป็นแบบอย่าง แม้กระทั่ง พระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ธนบุรี ก็ได้ศึกษาเอาพระวัดพลับเป็นแบบฉบับการสร้าง พระผง ของท่านด้วยเช่นกัน

นี้คือ Links ที่มาของบทความด้านบนที่มีทั้งรูปพิมพ์พระกรุวัดพลับ เกือบทุกพิมพ์ และประวัติย่อครับ >> อ่านต่อ 

แต่ด้านล่างต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาที่ดีมา ผมก็ขออนุญาติเอามาลงเป็นบางส่วนครับ... ขอขอบคุณ ศูนย์พระดอทคอม - พระกรุ วัดพลับ  

พระวัดพลับ
จ.ส.อ.เอนก เจกโพธิ์

"พระวัดพลับเป็นพระกรุ ทำด้วยผงสีขาวผสมปูนปั้น เนื้อแข็งขาวพระนั่งสมาธิ มีทั้งใหญ่และเล็ก อย่างเล็กประมาณเท่าเบี้ยจั่น กับทำพระนอน และพระปิดตาก็มี แต่หาก็หาได้น้อย ที่ทำเป็น 2 หน้าก็มี แต่หายากมีน้อย และพบทำด้วยตะกั่วก็มี มักทำแต่ขนาดเล็ก"

(จากข้อความหนังสือพระพิมพ์ เครื่องรางโดย ร.อ.หลวงบรรณยุทธชำนาญ ปรมาจารย์ทางพระเครื่องที่ได้ล่วงลับไปแล้วบันทึกไว้ แต่ไม่มีรายละเอียด)

ก่อนเข้าสู่เป้าหมายของเรื่องพระขอกล่าวถึงประวัติของวัดพลับ และอธิบดีสงฆ์ องค์แรกของวัดนี้ก่อนพอสังเขป

"วัดพลับ" เดิมเป็นวัดโบราณตั้งอยู่ใกล้คลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันจังหวัดธนบุรีรวมเขต กับจังหวัดกรุงเทพ ตั้งชื่อใหม่ว่า กรุงเทพมหานคร) มีมานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาอยู่ต่อหรือถัดจากวัดราชสิทธาราม เดี๋ยวนี้ขึ้นไปทางทิศตะวันตก


เมื่อรัชกาลที่ 1 ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้นิมนต์ "พระอาจารย์สุก" ซึ่งเป็นพระอาจารย์จากอยุธยา ให้ลงมาอยู่ในกรุงเทพ "พระอาจารย์สุก" ขออยู่วัดฝ่ายอรัญวาสี ที่สงัดเงียบสงบเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ ไม่ชอบอยู่ในวัดในบ้านเมือง รัชกาลที่ 1 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามอัธยาศัย และสร้างวัดราชสิทธารามขึ้น เพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ถวายให้อยู่จำพรรษา กับแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ "พระญาณสังวร" เมื่อ พ.ศ. 2326 ปีที่สร้างกรุงเทพเป็นเมืองหลวงนั่นแหละ เมื่อได้สร้างวัดราชสิทธารามขึ้นมาแล้ว จึงโปรดเกล้าให้รวม "วัดพลับ" เข้าในเขต "วัดราชสิทธาราม"ด้วย ราษฎรจึงยังคงเรียกชื่อ "วัดราชสิทธาราม" ว่า "วัดพลับ" โดย ทั่วไปตราบเท่าทุกวันนี้

ส่วน"พระอาจารย์สุก" นั้นต่อมาในรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2363 โปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น"สมเด็จพระสังฆราช" โปรดให้แห่ จากวัดพลับมาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ท่าพระจันทร์ เพียงปีเดียวก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2365 พระชันษา 90 ปี สรุปแล้วท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพลับนานถึง 38 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2325 ถึง พ.ศ. 2363

สมัยก่อนวัดพลับอาจจะมีไก่ชุกชุมคนทั้งปวงจึงเรียกท่านเป็น ฉายาติดปากกันมาว่า "สมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน" เพราะท่านมีภาวนาแก่กล้า สามารถเลี้ยงไก่ป่า ให้เชื่องได้ ตามคุณวิเศษที่ปรากฎ สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน องค์นี้แหละ เป็นผู้ปลุกเสกพระสมเด็จวัดพลับ ประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียก ชื่อท่านว่า "สมเด็จพระสังฆราชไก่ เถื่อน" 


ส่วนสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ชื่อ (สุขหรือสุก) เหมือนกัน สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ ระหว่างปี พ.ศ. 2337-2359 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อรัชกาลที่ 2 


สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนองค์นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ในหนังสือเรื่อง ตำนานวัดมหาธาตุว่า..

สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 ตรงกับวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2276 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานกันว่าคงจะเป็นชาวกรุงเก่า ปรากฏในหนังสือพงศาวดารว่า เมื่อครั้งกรุงธนบุรี เป็นอธิการอยู่วัดท่าหอยริมคลองคูจาม (ในพงศาวดารเรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก ครั้น พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ให้สร้างวัดราชสิทธารามขึ้นแล้วโปรดให้นิมนต์ พระอาจารย์ (สุก) วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดราชสิทธาราม เข้าใจว่าพระอาจารย์สุกองค์นี้ รัชกาลที่ 1 เคารพนับถือเป็นอาจารย์ของพระองค์ก่อนอยู่แล้ว

สมเด็จพระสังฆราช(สุก) ทรงเป็นที่เคารพนับถือเป็นอันมากของพระบรมวงศ์มาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 เพราะปรากฎใน จดหมายเหตุทรงผนวชเจ้านายในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ปรากฎนามพระญาณสังวรเป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์ เป็นพระราชอุปัชฌาย์จารย์ของรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ด้วย

สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) หรือสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) หรือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน เป็นองค์เดียวกัน แต่เรียกชื่อเป็นหลายชื่อ มาครองวัดราชสิทธาราม เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2325 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2363 รวม ระยะเวลา 38 ปีเต็ม จนกระทั่งได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชในปลายรัชกาลที่ 2 ขณะนั้นพระชนมายุได้ 88 ปีแล้ว แห่มาอยู่วัดมหาธาตุไม่ถึง 2 ปี ก็สิ้นพระชนม์ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 1 ปี กับ 10 เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 ขึ้น 13 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ.2365 ครั้นพระราชทานเพลิงศพแล้วโปรดเกล้าฯให้ปั้นพระรูปบรรจุอัฐิ ประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการะบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพ นับถือสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

นอกจากนี้รัชกาลที่ 3 ยังโปรดให้ช่างหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เท่าองค์จริง ขึ้นเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2387 ค้างอยู่ที่วัดพระแก้ว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้เชิญไปสถิตอยู่ในพระวิหารวัดมหาธาตุ ตั้งแต่ พ.ศ. 2395 มาจนทุกวันนี้ 


ที่มาของคำว่า "ไก่เถื่อน" นั้นมาเพราะ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เมื่อครั้งอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ท่านมีความสามารถเรียกไก่ป่าให้มารุมล้อมพระองค์เต็มไปหมด เหมือนยังกับเลี้ยงฝูงไก่บ้าน เป็นเหตุให้พระองค์ได้รับสมญานามว่า "พระสังฆราชไก่เถื่อน" พระคาถาของพระยาไก่เถื่อนของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่เชื่อถือสืบต่อกันมา ผู้ใดภาวนาแล้วจะเกิดเป็นพลังรังสีแผ่กระจายออกไปเป็นเมตตามหานิยมและเสน่ห์ต่อผู้เจริญภาวนาพระคาถานี้

ผู้ใดสนใจก็ไปทดลองดูนะครับ พระคาถามีดังนี้   
เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กูตะกุภู ภูกุตะกุ

ประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) หรือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน พระอาจารย์องค์หนึ่งของสมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีอยู่คร่าวๆพอสังเขปเพียงเท่านี้ และสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนองค์นี้แหละที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้าง และปลุกเสกพระวัดพลับ อันลือลั่นและเกรียงไกรในด้านพุทธคุณ เมื่อก่อนเรียกขานกันว่า "พระสมเด็จวัดพลับ" ในปัจจุบันเรียกว่า "พระวัดพลับ" เฉยๆ เป็นพระอมตะที่เด่นและดังเป็นเวลายาวนานมาแล้วในอดีต และในปัจจุบันก็ยังมีชื่อเสียงเกียรติคุณมีผู้คน เสาะแสวงหาเอาไว้คุ้มครองรักษาตัวกันอย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งประเดี๋ยวเราจะว่ากันในรายละเอียดต่อไป

ใครสร้างพระวัดพลับ

พระวัดพลับเป็นพระกรุ เป็นของเก่าโบร่ำโบราณนานปี มีอายุ 100 กว่าปีแล้ว ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง? และสร้างไว้เมื่อใด? แต่สันนิษฐานกันเป็น 2 ประการ

ประการแรก สันนิษฐาน กันว่าสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) หรือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนเป็นผู้สร้างและปลุกเสก เพราะท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพลับเป็นเวลายาวนานถึง 38 ปีเต็ม คือมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพลับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงปี พ.ศ. 2363 ในสมัยรัชกาลที่ 2 เหตุผลที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็คือ

1. พระวัดพลับ คนรุ่นเก่าก่อนเรียกชื่อว่า "พระสมเด็จวัดพลับ" คนรุ่นก่อนคงจะรู้ระแคะระคายที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่า ผู้สร้างคือสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) หรือ (สุก ญาณสังวร) ผู้สร้างมีสมณศักดิ์เป็นถึงพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ จึงได้นำชื่อผู้สร้างมาตั้งเป็นชื่อพระก็เป็นได้ ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาจากนักเลงพระรุ่นเก่าอย่างนั้น
2. พระวัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี มีพิมพ์พระเนื้อเหมือนกันกับพระกรุวัดพลับทุกอย่าง เรียกว่า "พระฝากกรุ" สันนิษฐานกันว่าน่าจะนำพระมาจากวัดพลับขึ้นไปบรรจุไว้ในเจดีย์วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี การนำพระมาจากวัดพลับขึ้นไปยังวัดโค่งสมัยนั้นยากลำบาก การเดินทางด้วยเท้าทางบกจะไม่ทำ นอกจากเดินธุดงค์ คงจะเดินทางด้วยเรือแจวไปตามแม่น้ำมากกว่า และผู้ที่จะนำไป หรือสั่งให้คนอื่นนำไปคงจะต้องเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ ถ้าเป็นพระลูกวัดธรรมดาๆ อย่างที่ร่ำลือกันว่า "ขรัวตาจัน" เป็นผู้นำพระไปบรรจุไว้มีหนทางที่จะเป็นไปได้ยากมาก หรือเกือบจะไม่มีทางเอาเลย

ประการที่สอง สันนิษฐานกันว่า "ขรัวตาจัน" พระภิกษุชาวเขมรผู้เรืองวิชาทางคาถาอาคมจำพรรษาอยู่ที่วัดพลับ เป็นผู้สร้างพระวัดพลับ แล้วนำพระส่วนหนึ่งขึ้นไปบรรจุไว้ที่วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี 

ถ้าเราจะวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้กันแล้ว พบทางที่จะเป็นไปได้อย่างมากๆ ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เมื่อครั้งอยู่ที่วัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับ คงจะไม่ได้ลงมือพิมพ์พระสร้างพระเองหรอก จะต้องมีคนอื่นขออนุญาตสร้างแล้วขอเมตตา จากท่านให้ช่วยปลุกเสกให้ คนที่เป็นแม่งานควบคุมดูแลการสร้างพระตั้งแต่ผสมเนื้อพระ คนช่วยกดพิมพ์พระแล้วรวบรวมมาให้ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ปลุกเสก อาจจะเป็นขรัวตาจันที่ว่าก็ได้

ถ้าหากเรื่องราวเป็นอย่างที่ว่านั้นจริง สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) หรือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระญาณสังวร อดีตเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับ เป็นผู้ปลุกเสกพระวัดพลับอย่างแน่นอน ที่ว่ามานี้คือ การสันนิษฐานนะขอรับ เพราะผู้เขียนก็เกิดไม่ทัน

สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) เป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราช (สุก) จริงหรือ? 

ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเองก็มีความสงสัยมาช้านานแล้ว สอบถามนักสะสมพระเครื่องรุ่นพี่ๆ ก็ยังไม่กระจ่างเป็นที่พอใจ ค้นหาหลักฐานก็ไม่พบชนิดที่จะแจ้งแดงแจ๋ มีแต่โน่นนิดนี่หน่อย ต้องเก็บเอามารวมกันแล้วตีความ บางตอนต้องแปลไทยเป็นไทยด้วยซ้ำ และบางตอนก็ต้องใช้คำว่าสันนิษฐานตามแบบฉบับของนักโบราณคดี เพราะไม่มีหลักฐานนั่นเอง

จากประวัติของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง ประวัติของท่านไว้เป็นความย่อๆ เรียกว่า "เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์" โดยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธ โปรดให้จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2466 กล่าวไว้ว่า…

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดประทาน และเมตตาสามเณรโตเป็นอันมาก เมื่ออายุครบอุปสมบท ปี พ.ศ. 2350 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง บวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และในรัชกาลที่ 2 ก็ทรงโปรดปรานรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์ให้ท่าน แต่ท่านทูลขอตัวเสียไม่ยอมรับ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ท่านไม่ขัดพระราชอัธยาศัย จึงทรงพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ ครั้งแรกเป็นพระธรรมกิตติ พ.ศ. 2395 เวลานั้นท่านอายุ 65 ปีแล้ว ต่อมาอิก 2 ปี คือ พ.ศ. 2397 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี
และใน พ.ศ. 2407 สถาปนาสมณศักดิ์เป็น "สมเด็จพระพุฒาจารย์" สถิต ณ วัดระฆัง

ตามหลักฐานประวัติข้างต้น สามเณรโตอายุครบบวชเมื่อปีพ.ศ. 2350 (ตามประเพณีต้องอายุครบ 20 ปี จึงบวชเป็นพระได้) สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุ ระหว่างปี พ.ศ. 2337-2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อรัชกาลที่ 2 ปีพ.ศ. 2350 ที่สามเณร (โต) บวชจึงจะเข้ากันได้ กับปี พ.ศ. ที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นอุปัชฌาย์ แต่ถ้าสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เป็นพระ อุปัชฌาย์แล้ว ปี พ.ศ. จะเข้ากันไม่ได้เลย เพราะสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2363 ไม่ตรงกับปี พ.ศ. ที่สามเณร (โต) บวชคือ พ.ศ. 2350 เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร หรือ ไก่เถื่อน) ไม่ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ของสามเณร (โต) อย่างแน่นอน (ว่ากันตามหลักฐานนะครับ)

อย่าลืมนะครับ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) เมื่อครั้งยังไม่ได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องวิปัสสนาธุระ พระภิกษุ (โต) ต้องได้ยินกิตติศัพท์แน่ และคงจะต้องมาขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชา (ตามความเข้าใจของผู้เขียนในเชิงสันนิษฐาน) เพราะวัดระฆังกับวัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับไม่ห่างไกลกันเท่าไหร่ มีหนทางที่จะเป็นไปได้มากที่สุดที่สมเด็จ (โต) เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมดาๆเป็นศิษย์ในสำนัก สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) และคงจะได้วิชาสูตรการทำผงวิเศษสำหรับสร้างพระเนื้อผงนำมาสร้างพระของท่าน เองที่วัดระฆังด้วยก็ได้

ปัญหาที่ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง เคยเป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) วัดพลับจริงไหม? ก็พอจะทราบแล้วนะครับว่าอะไรเป็นอะไร?

พระวัดพลับ กรุกระรอกเผือก
เป็นเรื่องที่เล่าขานสืบทอดต่อกันมาว่า มีชาวอิสลามบ้านอยู่แถวเจริญพาสน์ ไปไล่จับกระรอกเผือกภายในวัดพลับกับ พรรคพวก เจ้ากระรอกเผือกมันกระโดดหายเข้าไปในโพรงพระเจดีย์เก่าองค์หนึ่ง ชาวอิสลามกับพวกไม่ฟังเสียงใช้ไม้กระทุ้ง และทะลวงโยกคลอนเขย่าเข้าไปในรูโพรงพระเจดีย์ เพื่อต้องการให้กระรอกเผือกหนีออกมา แต่เจ้ากระรอกเผือกตัวนั้น มันหายไปรวดเร็วจัง จากผลที่เอาไม่กระทุ้งทะลวงในโพรงพระ เจดีย์ครั้งนั้น เกิดแรงสั่นสะเทือนทำให้มีพระเครื่ององค์เล็กๆสีขาว เท่าเบี้ยจั่นร่วงหล่นตามไม้ที่แยงขึ้นไปกระทุ้งผสมลงมากับเศษอิฐกากปูนเก่าๆ จำนวนหนึ่งชาวอิสลามไม่นับถือพระอยู่แล้ว จึงไม่สนใจ ที่จะเก็บพระเอาเข้าบ้าน จึงปล่อยให้พระตกเรี่ยราดอยู่แถวบริเวณโพรงพระเจดีย์นั้น

ในระหว่างเดินทางกลับบ้านพบปะเพื่อนฝูงก็เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ข่าวนี้ได้ไปกระทบหูชาวพุทธเข้าคนหนึ่งที่สนใจเรื่องพระเขาจึงรีบตรงไปที่วัดพลับทันที ค้นหาพระเจดีย์องค์ที่มีพระร่วงหล่นออกมาจนพบ ชายผู้นั้น (ไม่ทราบชื่อ) ได้ขนย้ายพระจำนวนหนึ่งมาเก็บไว้ที่บ้านของตน ต่อมาทางวัดรู้ข่าวจึงได้เปิดกรุเป็นทางการขึ้น นำเอาพระวัดพลับมาเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ชาวบ้านเรียกขานพระวัดพลับกรุนี้ว่า" พระวัดพลับ กรุกระรอกเผือก" เพราะเจ้ากระรอกเผือกเป็นตัวการทำให้คนไปพบพระเข้าโดยบังเอิญ ไม่ได้ตั้งใจ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าต่อกันไปอีกว่า เมื่อเด็กๆ มาเล่นแถวพระเจดีย์ที่มีพระวัดพลับร่วงหล่นออกมา ก่อนที่ทางวัดจะเปิดกรุเป็นทางการ ความประสี-ประสาของเด็ก นำพระมาเล่นหยอดหลุมทอยกองกันเล่นสนุกมือ จนกระทั่งพระเณรมาพบเห็นเข้า เรื่องจึงแดงโร่ขึ้น แล้วทางวัดจึงได้เปิดกรุเป็นทางการขึ้น จะเห็นได้ว่าพระกรุวัดพลับนั้นมีจำนวนมากมาย นับเป็นจำนวนหมื่นองค์ทีเดียว เรื่องที่เล่ามาให้ฟัง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ ได้ยินได้ฟังเขาเล่าก็เลยนำมาถ่ายทอดอีกชั้นหนึ่ง 

พระวัดพลับ กรุวัดโค่ง อุทัยธานี

เมื่อประมาณหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี กรุพระแตกเรียกกันว่า "พระกรุวัดโค่ง" เป็นพระเนื้อผงสีขาวองค์เล็กๆขนาดเท่าเบี้ยจั่น ชนิดเนื้อชินและเนื้อตะกั่วสนิมแดงก็มี เป็นที่สงสัยและฮือฮาแก่บรรดานักนิยมพระสะสมพระทางกรุงเทพฯ มาก เหตุที่สงสัยกันมากก็คือ ทำไมพระกรุนี้จึงมีแบบพิมพ์รูปร่างตลอดจนเนื้อพระเหมือนกับพระกรุวัดพลับ ที่จังหวัดธนบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นกรุงเทพฯ ครั้นสืบสาวราวเรื่องที่มากันอยู่พักหนึ่ง จึงรู้ว่าที่แท้ก็คือพระวัดพลับนำขึ้นไปบรรจุไว้ที่วัดโค่ง อุทัยธานีนั่นเอง 

เมื่อวงการรับรอง และอ้าแขนรับพระกรุวัดโค่ง ว่าเป็นของแท้เป็นพระประเภทฝากกรุเล่นได้ เท่านั้นแหละครับ ราคาพระกรุวัดโค่งพุ่งปรู๊ดยังกะพลุแตก เพราะเป็นพระที่ออกมาจากกรุใหม่ สภาพผิวพระดีมาก ย่อมสวยกว่าพระกรุกระรอกเผือกที่เปิดกรุมา 60 กว่าปีแล้ว คนนำมาใช้กันผิวปอกผิวเสีย เมื่อมันเสื่อมแล้ว เพราะฉะนั้นพระวัดพลับองค์ที่สวยๆ ผิวพระดีๆ สภาพเดิมๆ ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า เชื่อมั่นว่าเป็นพระกรุวัดโค่งทั้งสิ้น แต่ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรที่ตรงไหนในเมื่อพระวัดพลับ กรุกระรอกเผือก กับพระวัดพลับกรุวัดโค่ง สร้างพร้อมกัน คนปลุกเสกคนเดียวกัน และเชื่อกันว่าสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เป็นผู้ปลุกเสก เสร็จแล้วนำพระขึ้นไปบรรจุฝากกรุไว้ที่วัดโค่ง ริมแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี พระทั้ง 2 กรุนี้ บรรจุไว้บนคอระฆังพระเจดีย์ที่สูงที่แห้ง ไม่ได้ฝังดินอยู่ที่ต่ำชื้น มีคราบกรุบางๆ ไม่หนามาก สีสันเหมือนกันแยกไม่ออก แต่ถ้าเป็นพระที่ผ่านการใช้มาแล้วมากๆ ผิวเสีย ผิวสึกมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพระกรุกระรอกเผือก วัดพลับ ธนบุรี

สาเหตุที่พระวัดพลับ กรุวัดโค่ง อุทัยธานี ที่แตกกรุออกมา คนอุทัยธานี บ้านอยู่ใกล้วัดโค่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า… 

มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งขุดค้นหาสมบัติของ มีค่าตามพระเจดีย์ บังเอิญไปพบเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจเจตนา แต่ก็ไม่สนใจเรื่องพระ สนใจแต่ของมีค่าอย่างอื่นๆ ต่อมาทางวัดรู้เรื่องเข้าจึงได้เปิดกรุเป็นทางการขึ้น ช่วยกันขนย้ายพระจากพระเจดีย์องค์เก่าที่อยู่ริมแม่น้ำ มากองไว้โคนต้นโพธิ์ ชาวบ้านที่สนใจเรื่องพระทราบเรื่อง ก็มาหยิบฉวยกันเอาไปไม่มีใครหวงห้าม แต่ประการใด "พี่แอ๊ด" คนอุทัยธานี บ้านอยู่ในตลาด ห่างจากวัดโค่งไม่เท่าไหร่ ได้กรุณาพาตัวข้าพเจ้า ไปดูพระเจดีย์องค์ที่บรรจุพระ และต้นโพธิ์ที่นำพระมากองไว้ที่ต้นพร้อมกับเล่าให้ฟังว่า…

จำนวนพระที่ขนย้ายออกมาจากพระเจดีย์มากองไว้โคนต้นโพธิ์สุมไว้เป็นกองๆ เข้าใจว่าจำนวนพระนับหมื่นองค์ ต่อมาทางวัดได้เปิดให้ประชาชนเช่าบูชาเพื่อหารายได้นำมาบูรณวัด เปิดให้เช่าบูชาระยะหนึ่ง จนกระทั่งไม่มีคนสนใจแล้ว ท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้นำพระที่เหลือบรรจุไว้ที่ฐานชุกชี องค์พระประธานในโบสถ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในพระเจดีย์ 

ภายหลังต่อมาได้มีคนร้ายรู้ลายแทงหวนกลับมาขโมยขุดเจาะพระวัดพลับ ที่บรรจุไว้ที่ฐานชุกชีพระประธานในโบสถ์ และที่พระเจดีย์ที่บรรจุพระซ่อนเอาไว้ไปได้ เรียกว่าขนเอาไปจนเกลี้ยงไม่เหลือเอาไว้เลย และทางวัดก็ไม่สามารถที่จะจับมือใครดมได้ด้วย แล้วเรื่องก็เงียบจางหายแบบคลื่นกระทบฝั่งมาตราบเท่าทุกวันนี้

พระวัดพลับ เนื้อชินตะกั่ว

พระกรุวัดพลับมีทั้งเนื้อผงสีขาว และเนื้อชินตะกั่ว เนื้อผงสีขาวมีจำนวนมาก พบเห็นบ่อย ส่วนเนื้อชินตะกั่วมีจำนวนน้อยพบเห็นยาก คนส่วนใหญ่จึงนิยมเนื้อผงราคาดี ส่วนเนื้อชินตะกั่วราคาถูกแต่หายาก
ท่านก็ทราบกันอยู่แล้วว่า พระกรุวัดพลับมีอายุมากกว่าพระสมเด็จวัดระฆัง และพระสมเด็จบางขุนพรหม คือ มีอายุ 100 ปีเศษ 

เพราะฉะนั้นพระที่มีอายุขนาดนี้ จะต้องแลดูมีความเก่าสมกับอายุของพระ เช่น

1. ผิวของชินต้องมีความแห้งผาก ผิวมีมันแห้งๆ มีเนื้อพุงอกมีสนิมไขขาว ผิวมันแบบไขวัวจับ และอาจมีรอยผุกร่อนบางที่บางตอนด้วย
2. ถ้าเป็นพระเนื้อตะกั่ว ต้องมีสนิมแดง สนิมแดงของเก่าผิวต้องแห้งมีรอยลั่นร้าวแบบใยแมงมุมใต้ผิว คือรอยร้าวเกิดพุจากข้างในออกมาข้างนอก ไม่ใช่จากข้างนอกเข้าไปข้างในแบบของปลอม ลักษณะของสนิมแดงของแท้ต้องแห้งแลดูใสคล้ายวุ้น ไม่ใช่เปียกแฉะแลดูทึบแบบสีโป๊ว หรือสีผสมซีเมนต์นำมาปะทา ไว้เลอะเทอะน่าเกลียด  

พระวัดพลับเนื้อชินตะกั่ว เป็นของหายากมาก ข้าพเจ้าเคยพบเห็นผ่านสายตามาไม่เกิน 6 องค์ ที่เป็นของแท้ ส่วนของเก๊นั้นมีมากเหลือเกิน ใครที่สนใจเล่นหาต้องระวังกันหน่อย ถ้าจะให้ปลอดภัยควรให้ผู้สันทัดกรณีตรวจเช็คเสียก่อนเป็นการดีนะครับ

พระวัดพลับ เนื้อผงสีขาว

พระกรุวัดพลับ จะเป็นกรุกระรอกเผือกที่วัดพลับ ธนบุรี หรือกรุวัดโค่ง อุทัยธานี เนื้อเหมือนกันทุกอย่าง แต่ขึ้นจากกรุไม่พร้อมกัน พระกรุกระรอกเผือกเปิดกรุก่อน ปี พ.ศ. 2470 ส่วนกรุวัดโค่ง อุทัยธานี เปิดกรุก่อนปี พ.ศ. 2500 และภายหลัง พ.ศ. 2500 บรรจุอยู่ในเจดีย์ที่สูงที่แห้งทั้ง 2 กรุ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีดินขี้กรุสีดำ หรือสีเทาแก่มาจับผิวแบบพระสมเด็จบางขุนพรหม (กรุใหม่) จะมีขี้กรุจับไม่หนาสีขาวบ้างสีขาวอมเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนบ้าง

พูดถึงเรื่องเนื้อพระกันแล้ว มีทั้งแบบละเอียด และกึ่งหยาบ และเนื้อหยาบ ที่เรียกกันว่า "เนื้อก้นครก" เนื้อหยาบพบมากในพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ และพิมพ์ยืนหรือนอน ส่วนมากพระพิมพ์ขนาดเล็ก จะเป็นชนิดเนื้อละเอียด แกร่ง-แข็ง-ขาว และมีจุดจ้ำเหลือง แบบพระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่า 

เรื่องการแตกลายงา และลายสังคโลกบนพื้นผิวพระวัดพลับ เนื้อผงส่วนมากจะมี และชนิดที่ไม่แตกลายงาก็มี ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก การแตกลายงาจะมีทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังองค์พระด้วย สันนิษฐานว่า การแตกลายงาเกิดจากการอบความร้อนของพระที่อยู่ในกรุเป็นเวลายาวนาน ภายในเจดีย์ไม่มีรูระบายอากาศ หรือมีแต่ไม่เพียงพอ ประกอบกับองค์พระมีขนาดเล็กด้วย 

ลำดับต่อไปจะพูดถึงเรื่องแบบพิมพ์

การแยกพิมพ์พระกรุ วัดพลับ

เป็นความจริงที่ทราบกันแล้วว่า พระกรุโบราณตอนสร้างพระนั้น ผู้สร้างมิได้ตั้งชื่อแบบพิมพ์เอาไว้เลย คนรุ่นหลังต่อมาที่พบพระเป็นผู้จัดการตั้งชื่อให้ท่านทั้งสิ้น เพื่อสะดวกต่อการเรียกขานชื่อให้เข้าใจความหมายซึ่งกันและกันเพราะถ้าไม่มี ชื่อเรียกต้องยุ่งสับสนแน่ๆ การตั้งชื่อแบบพิมพ์พระนั้น บางครั้งก็ดูตามพุทธลักษณะลีลาจุดที่หมายเด่นเห็นจำง่ายในแบบพิมพ์ก่อน และบางครั้งก็ดูตามรูปพรรณสัณฐานว่าเหมือนหรือใกล้เคียงกับสิ่งใด หรือดูขนาด ฯลฯ เป็นต้น

พระสมเด็จวัดพลับก็เช่นเดียวกัน มีกี่แบบพิมพ์ไม่ทราบได้ ไม่มีการจดบันทึกหลักฐานกันเอาไว้เลย เพราะเป็นของเก่าโบร่ำโบราณเกิน 100 ปี ที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป ในเวลานี้มีอยู่ 12 พิมพ์ มีรายชื่อว่าอะไรบ้าง ประเดี๋ยวรู้ นอกเหนือจากนี้อาจจะมีอีก แต่ยังไม่มีใครพบเห็น ที่พบๆ แต่ของปลอม รายชื่อที่เรียกเป็นสากล มีดังนี้

1. พิมพ์ วันทาสีมา หรือยืนถือดอกบัว หรือนอน
2. พิมพ์ ตุ๊กตาใหญ่
3. พิมพ์ พุงป่องใหญ่
4. พิมพ์ พุงป่องเล็ก
5. พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก
6. พิมพ์ สมาธิ-ใหญ่
7. พิมพ์ สมาธิ-เล็ก
8. พิมพ์ สมาธิ-เข่ากว้าง-ใหญ่
9. พิมพ์ สมาธิ-เข่ากว้าง-เล็ก
10. พิมพ์ปิดตา-ขนาดใหญ่
11. พิมพ์ ปิดตา-ขนาดเล็ก
12. พิมพ์ 2 หน้า



ที่มา : www.soonphra.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น