วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระวัดพลับ (เรื่องของเนื้อพระ)

จากหนังสือพระพิมพ์เครื่องรางเรียบเรียงโดย ร.อ.หลวงบรรณยุทธ ชำนาญ (สวัสดิ์ นาคะสิริ) ปรมาจารย์พระเครื่องในอดีต กล่าวถึงเรื่องพระวัดพลับไว้ว่า…

"พระวัดพลับอยู่ในกรุวัดพลับ ทำด้วยผงสีขาวผสมปูนเนื้อแข็งขาว ท่าพระนั่งขัดสมาธิ มีทั้งใหญ่ และเล็กประมาณเท่าเบี้ยจั่น กับทำพระนอนและปิดตาก็มี แต่หาได้น้อย ที่ทำเป็น 2 หน้าก็มี แต่หายากมีน้อย และพบทำด้วยตะกั่วก็มี มักทำแต่ขนาดเล็ก ..."

จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้นที่คนรุ่นก่อนเขียนเป็นหลักฐานบอกไว้เป็นความจริง ทุกอย่าง คือ พระวัดพลับ มีทั้งชนิดเนื้อผงสีขาว กับเนื้อชินตะกั่ว ชนิดเนื้อผงขาวพบบ่อย แต่ชนิดเนื้อชินตะกั่วพบน้อย หายากมาก เจอแต่เก๊ทั้งนั้น ของจริงมีน้อย เคยพบเห็นมาเพียงไม่กี่องค์ ขาดความนิยมไปอย่างน่าเสียดาย เรียกว่าราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากคนยังไม่รู้จัก และไม่นิยม แต่นิยมกันเฉพาะเนื้อผงสีขาวเท่านั้น
ส่วนผสมของเนื้อพระวัดพลับชนิดผงขาว ที่เรียกกันว่าปูนปั้นคงจะประกอบด้วย ปูนขาวที่ได้จากการเผาเปลือกหอยทะเล เกสรดอกไม้ น้ำมันตั้งอิ๊ว ฯลฯ และผงวิเศษที่ได้จากการปลุกเสกอย่างดีแล้ว คือ ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห นำมาคลุกเคล้ากันใช้ในการพิมพ์พระ เมื่อเนื้อผงพระแห้งแล้วจะมีความแข็งแกร่งแบบเซทตัวของปูนซีเมนต์

เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายจะพบว่า เนื้อมีความละเอียด แกร่ง-แข็ง-ขาว มีจุดเหลืองของเนื้อกล้วย จุดเม็ดปูนขาวขุ่น และจุดสีดำ ซึ่งพบน้อยมาก นอกจากนี้อาจจะมีจุดสีแดงอิฐปะปนอยู่บ้าง แต่พบน้อยเช่นกัน

พระวัดพลับ เป็นพระถูกบรรจุไว้ในกรุเจดีย์ อยู่ในที่สูงที่แห้ง ไม่ได้ฝังอยู่ใต้ดินแบบพระสมเด็จบางขุนพรหม เพราะฉะนั้นจึงมีคราบกรุบางๆ ไม่จับหนาเขรอะขระ ส่วนมากจะเป็นชนิดคราบกรุสีขาว หรือสีขาวอมน้ำตาลเป็นเม็ดเป็นปุ่มเล็กๆ คล้ายหนังกระเบน บางองค์ผิวลายแตกงาฐานร้าวแบบชามสังคโลก บางองค์มีชนิดที่เรียกว่า "เนื้องอก" อีกด้วย

เรื่องการแตกลายงาหรือลายสังคโลกเป็นปัจจัยข้อหนึ่ง ในหลายๆข้อที่ต้องใช้ประกอบในการดูเนื้อพระวัดพลับ เพราะเนื้อพระวัดพลับส่วนมากมีแตกลายงาทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ชนิดที่ไม่แตกลายงามีน้อย เส้นลายงา หรือลายสังคโลกเป็นเส้นเล็กปริแยกจากใต้ผิวพระขึ้นมา เป็นลักษณะแบบธรรมชาติ ดูด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น ต้องใช้แว่นขยายช่วย มีลักษณะเป็นอย่างไรขอให้สังเกตดูจากเครื่องลายคราม หรือเครื่องปั้นดินเผาเก่าๆ ประกอบเปรียบเทียบ

เนื้อพระชนิดแตกลายงานี้ เมื่อถูกจับใช้ได้รับความชื้นจากมือหรือไอเหงื่อ รอยแยกลั่นร้าวของเนื้อพระจะใหญ่ขึ้น มองด้วยตาเปล่าเห็นชัด เป็นลักษณะการลั่นร้าวแบบธรรมชาติจากภายในออกมาภายนอก ผิวพระจะยังคงเรียบร้อยอย่างเดิม ไม่มีลักษณะผิวบวมนูนสูงแบบของปลอม หรือที่เขาอบด้วยเครื่องไฟฟ้า

คนโบราณนิยมใช้พระวัดพลับโดยอมไว้ใน ปาก และคนโบราณรุ่นก่อนนิยมการกินหมาก เพราะฉะนั้นพระวัดพลับที่พบเห็นโดยมากมีรอยถูกอมเปรอะเปื้อนน้ำหมาก แต่คนรุ่นหลังก็นำมาล้างน้ำหมากออก เพราะชอบความสะอาด พระที่ผ่านการอมใช้จากคนรุ่นก่อนมาแล้ว เนื้อพระจะจัดแลดูมีความซึ้งประทับใจมาก ถ้าส่องดูด้วยแว่นขยายแล้วอย่าบอกใครเชียว พูดได้อย่างเดียวว่าสวยมากๆ

สำหรับพระที่มิได้ผ่านการใช้งานคือ มีเก็บไว้เฉยๆ บนหิ้ง หรือในห่อในพานบ้านเก่าๆ ผิวพระจะมีลักษณะแห้งผากคล้ายปูนกำแพงเก่าๆ หรืออาจจะแลดูคล้ายพระบวชใหม่ๆ ไปก็มี สำหรับคนที่ไม่ชำนาญสันทัดกรณี พระแบบอย่างว่านี้แหละมีคนเสาะหาเอาไว้สำหรับส่งเข้าประกวดความงามเพราะถือว่า เจ้าของพระเก็บอนุรักษ์ไว้ดีสภาพเดิมเหมือนกับที่ออกมาจากกรุใหม่ๆ

พระวัดพลับมีการปลอมแปลงลอกเลียนแบบมาช้านานแล้ว เรียกว่าของปลอมล้นตลาดมีมากกว่าของจริง แต่ทั้งพิมพ์ และเนื้อไม่เหมือนกับของจริงเลย ยังมีช่องว่างห่างกันมาก จำแบบพิมพ์ให้แม่นแล้วหาของจริงดูเนื้อพระแป๊บเดียวก็รู้ ถ้าเคยเห็นของจริงสักครั้งเดียวจะติดตา

ปกิณกะเรื่องเนื้อพระวัดพลับอย่างละนิดอย่างละหน่อยที่นำมาแสดง คงจะพอเป็นแนวทางสำหรับการศึกษาค้นคว้าของผู้ที่สนใจบ้าง บอกกับท่านมาหลายครั้งแล้ว การศึกษาเรื่องพิมพ์เรื่องตำหนิไม่ยาก แต่การศึกษาเรื่องเนื้อพระนั้นยากกว่าเรื่องพิมพ์ทรง ต้องศึกษาจากพระองค์จริงที่เป็นของแท้ ประกอบกับการอ่านตำราจึงจะได้ผลเป็นเร็ว ...

อ่านตำราอย่างเดียว แล้วไม่หาของจริงดู ประเดี๋ยวก็ลืม ...

ที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป ในเวลานี้มีอยู่ 12 พิมพ์ นอกเหนือจากนี้อาจจะมีอีก แต่ยังไม่มีใครพบเห็น ที่พบๆ แต่ของปลอม รายชื่อที่เรียกเป็นสากล มีดังนี้

1. พิมพ์ วันทาสีมา หรือยืนถือดอกบัว หรือนอน 2. พิมพ์ ตุ๊กตาใหญ่ 3. พิมพ์ พุงป่องใหญ่ 4. พิมพ์ พุงป่องเล็ก 5. พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก 6. พิมพ์ สมาธิ-ใหญ่ 7. พิมพ์ สมาธิ-เล็ก 8. พิมพ์ สมาธิ-เข่ากว้าง-ใหญ่ 9. พิมพ์ สมาธิ-เข่ากว้าง-เล็ก 10. พิมพ์ปิดตา-ขนาดใหญ่ 11. พิมพ์ ปิดตา-ขนาดเล็ก 12. พิมพ์ 2 หน้า

ที่มา บทความ และรูปภาพ : www.soonphra.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น