วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระวัดพลับ ดีอย่างไร ?

พระสมเด็จวัดพลับดีอย่างไร? คำว่าดีอย่างไรในที่นี้ ข้าพเจ้าตีความหมายตามความคิดเห็นของตัวเองเป็น 2 อย่าง  

ประการแรก หมายถึง "ดีภายนอก" ได้แก่ศิลปะของ องค์พระ รูปร่าง และขนาด ส่วนผสมของเนื้อหา เรียกว่า สัมผัสดูได้ด้วยตา รายละเอียดประเดี๋ยวเรามาคุยกันดู  
ประการสอง หรือต่อมา หมายถึง "ดีภายใน" อันนี้สำคัญมากหัวใจของเรื่องอยู่ตรงนี้ พูดสั้นๆก็คือ "คุณภาพของพระเครื่องนั่นเอง" ซึ่งแน่นอนจะต้องพาดพิงเกี่ยวโยงไปถึงผู้ผลิต พระอาจารย์สุก ผู้ปลุกเสกว่า "ท่านขลังขนาดไหน" ตอนแรกนี้ขอกล่าวใน ประเด็นที่ 1 ก่อน



เรื่องดีภายนอกของพระวัดพลับ ดีอย่างไร?

ศิลปะขององค์พระ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ แบบเรียบง่าย ปราศจากลวดลาย และเครื่องอลังการ จุดเด่นอยู่ที่องค์พระประการเดียว แม้ว่ามีบางพิมพ์แปลกแหวกแนวออกไปบ้าง เช่น พิมพ์ยืน เป็นต้น แต่พิมพ์อื่นส่วนใหญ่แล้วศิลปะดี
รูปร่างขนาดน้ำหนัก ขนาดใหญ่โตประมาณเท่าหัวแม่มือ ขนาดเล็กโดยประมาณเท่าเบี้ยจั่น หรือโตกว่าไข่จิ้งจกนิดหน่อย เป็นรูปพระนั่งสมาธิ พิมพ์สะดุ้งมารไม่มี กับพิมพ์ยืนถือดอกบัว หรือบางท่านเรียกพิมพ์นอน กับพิมพ์พระปิดตา สรุป แล้ว เป็นพระขนาดเล็กกระทัดรัดน้ำหนักเบาน่าใช้น่าแขวนคอ
ส่วนผสมของเนื้อพระ อันนี้ไม่มีใครนำไปแยกธาตุดูว่ามีอะไรบ้าง แต่พูดกันทั่วไปว่ามีผงสีขาวผสมปูนปั้น คือเดากันว่ามีผงปูนขาว ได้จากการเผาเปลือกหอยทะเล กล้วย เกสรดอกไม้ น้ำมันตั้งอิ๊ว ฯลฯ และผงวิเศษที่ปลุกเสกแล้วนำมาคลุกเคล้าผสมกันใช้ในการพิมพ์พระ เมื่อเนื้อพระแห้งแล้วจะแข็งแกร่งแบบ "เซทตัว" ไม่ต้องเผาไฟอย่างเนื้อดินเผาทั่วไป สรุปแล้วมันเนื้อผงปูนปั้นชนิดดีเยี่ยม

เรื่องดีภายในของพระวัดพลับ ดีอย่างไร?

ตอนที่ 2 จะกล่าวถึงเรื่อง "ดีภายใน" แยกเป็นส่วนย่อยสองตอนอีก ตอนย่อยอันแรกว่าด้วย คุณภาพของพลังงานทางจิต ของอาจารย์ผู้ปลุกเสกโดยทั่วไป กับตอนย่อยอันที่สอง ว่าด้วย ความชำนาญแต่ละแขนงวิชาของอาจารย์ผู้ปลุกเสก เป็นเอตทัคคะ

ตั้งแต่ สมัยโบราณเรื่อยลงมาถึงจุดปัจจุบันเท่าที่รู้มา การสร้างพระเครื่องรางของขลังทุกอย่างแต่ละคราว องค์พระประมุขของชาติ สร้างขึ้นก็ดี รัฐบาลสร้างขึ้นก็ดี พระเกจิอาจารย์ตามวัดสร้างขึ้นก็ดี ตลอดจนเอกชนทั่วไปสร้าง ต่างก็จะแสวงหาพระอาจารย์คัดเลือกเฟ้นตัวกันว่า เป็นยอดของแต่ละท้องที่ แต่ละแขวง หรือจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยนิมนต์อาราธนาท่านมาร่วมพิธีพุทธาภิเษกปลุกเสกพระเครื่อง 

พระอาจารย์บางองค์อายุมาก สุขภาพไม่ดีมาไม่ได้ท่านก็จะทำผงวิเศษให้มา หรืออาจจะอธิษฐานจิต
ลงบนแผ่นโลหะ หรือวัสดุที่ใช้ในการสร้างพระให้มาร่วมรายการด้วย นอกจากพระเกจิอาจารย์บางองค์ท่านมีความประสงค์จะสร้างของท่านคนเดียว ท่านก็ไม่ต้องไปนิมนต์ให้องค์อื่นมาช่วย

"การปลุกเสก ก็คือ การบรรจุพลังงานทางจิต" ซึ่งเป็นคลื่นคล้ายวิทยุแต่มีความถี่ และละเอียดกว่า ดูด้วยตาไม่เห็น สัมผัสจับต้องด้วยมือไม่รู้สึก และยังไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ วัดความถี่ หรือความเข้มความแรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ บรรจุให้เข้าไปติดแน่นอยู่ ภายในองค์พระที่สร้างขึ้นมา เป็นธรรมดาพลังงานทางจิตของอาจารย์แต่ละองค์ไม่เท่ากัน องค์ไดได้ฌาณชั้นสูง มีสมาธิแก่กล้ามาก บรรจุพลังงานทางกระแสจิตได้เร็ว มีความเข้มมากเรียกว่า "มีคุณภาพสูง" ถ้าตรงกันข้ามเรียกว่า "มีคุณภาพต่ำ" หรือถ้าเปรียบเทียบอย่างง่าย "การปลุกเสก กับการชาร์ตแบตเตอรี่" ก็พอได้ เมื่อประจุไฟฟ้าเข้าไปในหม้อแล้ว เวลาจะใช้งาน ต้องหาสายไฟมาต่อเป็นสะพานเชื่อมโยงจึงจะนำเอาพลังงาน ไฟฟ้าจากหม้อแบตเตอรี่ ไปใช้งานได้ จุดประสงค์จะใช้เรื่องอะไร ต้องการ ให้หลอดไฟฟ้าสว่าง หรือต้องการให้เครื่องยนต์ติดย่อมได้ทั้งนั้น

ถึงตอนนี้บางท่านมีปัญหาเกิดขึ้นในใจแล้ว "ปลุกเสกหมู่ กับ ปลุกเสกเดี่ยว อย่างไหนจะดีกว่ากัน" ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า "ปลุกเสกหลายองค์ดีกว่า" เพราะเป็นการสามัคคีพลังจิตข้อสำคัญที่ว่า "หลายองค์นั้นจะต้องมีคุณภาพสูงด้วย" บางท่านมีปัญหาตามมาอีกเปราะหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องราวเวลาที่ใช้ในการปลุกเสก เช่น ปลุกเสกอึดใจเดียว กับปลุกเสกนานๆ แรมเดือนแรมปี อย่างไหนจะดีกว่ากัน คำตอบต้องเลือกเอาประเด็นหลัง "ปลุกเสกนานย่อมจะต้องดีกว่า" มีการสะสมพลังงานมากกว่าพิธีพุทธาภิเษกที่ทำกันอยู่ทั่วไปอย่างดีไม่ เกิน 3 ใน 7 วัน เพราะทำนานๆ มันเปลืองค่าโสหุ้ยใช้จ่าย และเสียเวลาแรงงานต่างกับสมัยโบราณ เท่าที่รู้มาจุดประสงค์ของผู้สร้าง จะเป็นใครก็ดีต้องการของที่ทำออกมาแล้ว "มีคุณภาพสูง และดีที่สุดไม่เกี่ยวกับเรื่องการค้าพาณิชย์ สร้างเสร็จก็แจกกันไปใช้ฟรีๆ ส่วนที่เหลือบรรจุเข้าพระเจดีย์เป็นพุทธบูชาสืบต่อศาสนา ก็ถือว่าได้บุญโชคอักโขอยู่แล้ว 

ของกรุของเก่าซึ่งมีคุณภาพสูง ที่บอกกล่าวให้รู้ตอนต้นนี้เป็น เรื่อง "ดีภายในส่วนที่หนึ่ง" พระอาจารย์ที่มาร่วมพิธีปลุกเสกแต่ละองค์ มีอำนาจพลังงานทางจิตไม่เท่ากัน บางองค์อยู่ในชั้นสูง บางองค์อยู่ในชั้นต่ำ ท่านรู้กันเองยกย่องกันเอง ในหมู่ของท่านผู้เรืองวิชาเหล่านั้น บอกแล้วไงว่ายังสร้างเครื่องมือ เครื่องวัด ตลอดจนเครื่องรับส่งยังไม่ได้

ต่อไปนี้จะได้พูดถึง "ดีภายในส่วนที่ 2" ท่านเชื่อไหม? ความถนัดชำนาญแต่ละแขนงวิชาของ อาจารย์ผู้ปลุกเสกที่ได้รับการถ่ายทอดมา "ไม่เหมือนกัน และไม่เท่าเทียมกันอีก" เรียกว่า "เก่งไปคนละอย่าง และเก่ง มากเก่งน้อย" บางองค์ศึกษาเล่าเรียนมา จากสำนักเดียวกันอาจารย์เดียวกัน แต่ทำของขึ้นไม่เหมือนกัน ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ คนที่ศึกษาวิชาทางการแพทย์ย่อมจะมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องการรักษา พยาบาลเจ็บป่วย ตามที่ศึกษาจากการทหาร ย่อมจะมีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการสงคราม เรื่องยุทธวิธี และกลศึกที่จะต่อสู้กับข้าศึก คนที่ศึกษาวิชาการช่างกล อุตสาหกรรมย่อมมีความรู้ความชำนาญ เกี่ยวกับเรื่องการซ่อมสร้างเครื่องยนต์กลไก และงานช่างทั่วไป เป็นตัวอย่าง คือ แต่ละคนจะมีความชำนาญงานไปคนละอย่างตามถนัดที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา แต่ถ้าสับเปลี่ยนตำแหน่งกัน และศึกษาเพิ่มเติมอาจจะทำได้แต่ไม่ชำนิชำนาญ เหมือนอย่างที่เขาศึกษามาโดยตรง อันนี้เป็นหลักความจริงธรรมดาๆ อุปมาฉันใดพระอาจารย์ที่มาช่วยร่วมพิธีพุทธาภิเษกก็อุปไมยฉันนั้น

บางองค์มีความชำนาญมากในเรื่องเมตตามหานิยม แต่ไม่ค่อยชำนาญ ในเรื่องคงกระพันชาตรี เพราะไม่ได้ศึกษา หรือได้รับการถ่ายทอดมาจากพระอาจารย์ของท่านไม่มากนัก บางองค์ชำนาญในเรื่องมหาอุตม์โดยเฉพาะ แต่ไม่ชำนาญในเรื่องการปลุกเสกป้องกัน เขี้ยวงา หรือไม่ชำนาญในเรื่องการแคล้วคลาดเป็นตัวอย่าง

ดังนั้นการใช้พระจึงควรใช้หลายองค์ดี กว่าองค์เดียวแน่ ไม่มีพระองค์ใดใช้ได้สารพันทุกอย่าง เชื่อเถอะต้องมีข้อจำกัด ตามข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนั้น ท่านไม่ต้องเชื่อตามข้าพเจ้าหรอก โปรดพิจารณาไตร่ตรองดูก่อนอาจจะเป็นความจริงได้ไหม "และเราจะใช้พระอะไรกันดี" ต้องเขียนอีกเรื่องหนึ่งต่างหากกระมัง

เมื่อได้สร้างรูปเคารพ ขึ้นมาแล้วพระอาจารย์ที่เก่งๆ ท่านก็ปลุกเสกให้แล้ว เวลาจะนำไปใช้งาน ก็ต้องมีสะพานเชื่อมต่อคือ จิต หรือใจของผู้เป็นเจ้าของวัตถุมงคลนั้นๆ น้อมใจรำลึกถึง หมั่นกราบไหว้บูชา มีความศรัทธาเชื่อมั่น หมั่นอาราธนาปลุกเสกอธิษฐาน ขอพรบารมี บันทึกผลของการกระทำที่สะท้อนมาสู่ ตัวท่านจะพบโดยตัวของท่านเองว่า "พระเครื่ององค์น้อยกระจิดริด ศักดิ์สิทธิ์ มีอภินิหาร" ขออย่าได้แขวนเป็นแบบ "แฟชั่น" เลย นี่เป็นเรื่อง "ดีภายใน" การปลุกเสกพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง ทุกอย่างทุกชนิดต้องมีขั้นตอนดังที่ได้กล่าวมาให้ฟัง บางท่านอาจจะบอกว่า "อ้ายหมอนี่ดูหนังจีนกำลังภายในเรื่องมันชักจะไปกันใหญ่แล้ว" ครับ ข้าพเจ้า พาท่านออกสู่ทะเลลึกเสียไกล เรากลับขึ้นฝั่งกันเถอะ เพื่อช่วยกันขบคิดปัญหา เรื่องดีภายในของพระวัดพลับ 

พระวัดพลับมีคุณภาพหรือไม่ 

ท่านทั้งหลายคงจะเห็นมากับตา และได้ยินกับหูตนเองแล้วเรื่องการโฆษณาสินค้าทางวิทยุ หรือทางทีวีว่ามีคุณภาพดีอย่างโน้นอย่างนี้ เพื่อแนะนำให้คนรู้จัก และซื้อสินค้าของเขาที่ผลิตขึ้นมา แต่ในทางตรงกันข้ามพระที่มีชื่อเสียง โด่งดังขึ้นมาจนคนรู้จัก และเสาะแสวงหากัน เพื่อนำมาไว้คุ้มครองป้องกันตัว และเป็นศิริมงคลแก่ตัวเอง ไม่เคยมีประวัติมาก่อนว่าต้องเสียค่าโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ทางวิทยุ หรือทางทีวีเลย ดังจากการที่หลายๆ คนนำไปใช้งานแล้วมีประสบการณ์ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องต่างๆ มีหลายคนรู้เห็นเป็นพยานพูดโจษขานกันไปปากต่อปาก เวลานานเข้ารู้กันไปทั่วเมือง ทั่วประเทศว่า พระพิมพ์นี้มีชื่อนี้ มีคุณภาพยังไง เรียกว่าเชื่อถือได้ คุณภาพดี-คุณภาพสูง พระวัดพลับก็เข้าหลักเรือลำเดียวกับเรื่องนี้
คนส่วนมากบอกว่า พุทธคุณของท่านดี ทางเมตตามหานิยม และทางคงกระพันชาตรีก็ใช้ได้

ที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป ในเวลานี้มีอยู่ 12 พิมพ์ นอกเหนือจากนี้อาจจะมีอีก แต่ยังไม่มีใครพบเห็น ที่พบๆ แต่ของปลอม รายชื่อที่เรียกเป็นสากล มีดังนี้

1. พิมพ์ วันทาสีมา หรือยืนถือดอกบัว หรือนอน 2. พิมพ์ ตุ๊กตาใหญ่ 3. พิมพ์ พุงป่องใหญ่ 4. พิมพ์ พุงป่องเล็ก 5. พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก 6. พิมพ์ สมาธิ-ใหญ่ 7. พิมพ์ สมาธิ-เล็ก 8. พิมพ์ สมาธิ-เข่ากว้าง-ใหญ่ 9. พิมพ์ สมาธิ-เข่ากว้าง-เล็ก 10. พิมพ์ปิดตา-ขนาดใหญ่ 11. พิมพ์ ปิดตา-ขนาดเล็ก 12. พิมพ์ 2 หน้า

ที่มา บทความ และรูปภาพ : www.soonphra.com

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 พฤษภาคม 2556 เวลา 20:29

    เผยแผ่ใช้คำทันสมัยเกินไป เหมือนสินค้ายุคปัจจุบัน ทำให้จิตไม่อ่อนไหวตาม

    ตอบลบ